ส่วนของสมาชิก

ซุ้มเรือนแก้ว พระพุทธชินราช

ซุ้มเรือนแก้ว พระพุทธชินราช

หน้าแรก » กรุพระ » พระพุทธรูป » ซุ้มเรือนแก้ว พระพุทธชินราช
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

 ซุ้มเรือนแก้ว พระพุทธชินราช

"เป็นงานศิลปะสมัยอยุธยาซึ่งผสมผสานฝีมือช่างชั้นครูทางเหนือ ที่เรียกว่างานจำหลักไม้ ปิดทอง"

ซุ้มเรือนแก้วองค์พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ จ.พิษณุโลก นับเป็นมรดกทางพุทธศิลปะที่งดงามและมีเอกลักษณะเฉพาะตัว ส่งผลให้องค์พระพุทธชินราชมีพุทธลักษณะเฉพาะอันเป็นต้นแบบของการสร้างพระที่ประกอบไปด้วยซุ้มเรือนแก้ว ทั้งที่เป็นพระพุทธรูปและพระเครื่องซุ้มเรือนแก้วองค์พระพุทธชินราชเป็นงานศิลปะสมัยอยุธยาซึ่งผสมผสานฝีมือช่างชั้นครูทางเหนือ ที่เรียกว่างานจำหลักไม้ ปิดทอง ตัวเรือนทำจากไม้สัก ยอดบนเป็นปลายหางตัว "มกร" ประกบกันคล้ายช่อฟ้า ก่อนจะทอดยาวเป็นลายอ่อนช้อยครบองค์ประกอบของเครื่องสูง ไม่ว่าจะเป็นการขยักลำตัวในลักษณะงวงไอยรา การจำหลักครีบตั้งขึ้นมาเป็นใบระกา ก่อนจะกระดกหัวเป็นมกรคายพวงอุบะโค้งขึ้นด้านบน ส่วนด้านล่างคายสัตว์หิมพานต์ประเภทหนึ่งมีลำตัวยาวคล้ายนาค แต่ท่อนหัวซึ่งอยู่สองฟากองค์พระกลับทำเป็นรูปตัวสัตว์ที่มีงวงคล้ายคชสาร มีขาคล้ายราชสีห์

หากพิจารณาตามศิลปะของ "ซุ้มเรือนแก้ว" แล้วจะมีข้อถกเถียงกันว่า ตัวที่ถูกจำหลักขึ้นทำเป็นเรือนซุ้มนั้นเป็นตัวอะไรกันแน่ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ในส่วนที่ตวัดขึ้นเป็นพวงอุบะทั้งสองฟากพระอังสานั้นทำเป็นรูปสัตว์ที่เราเรียกว่ามกร หรือเหรา โดยมีงวงตวัดขึ้นและแสดงให้เห็นฟันที่อ้าเผยอออก ส่วนตัวด้านล่างนั้นบ้างก็บอกว่าเป็นตัวมกร หรือเหรา เช่นกัน หากทำผิดแผกไปจากฝีมือช่างทางเหนือ แต่พิจารณาแล้วมีลักษณะเหมือนกับสัตว์ที่เรียกว่าตัวทักทอ (ทัก-กะ-ทอ) คือ เหมือนกับตัวคชสีห์อันเป็นสัตว์ผสมระหว่างช้างกับราชสีห์ แต่มีขนาดเล็กกว่าและตัวทักทอจะมีขนบนหัวกระดกตั้งขึ้นรวมทั้งมีเครา นับเป็นสัตว์หิมพานต์ในจินตนาการที่หาดูไม่ใคร่ได้ง่ายนัก

การสร้างพระพุทธรูปปางซุ้มเรือนแก้วอุบัติขึ้นหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และทรงเสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ที่ 4 โดยเทพยดาได้เนรมิตซุ้มเรือนแก้วขึ้นทางทิศเหนือของโพธิบัลลังก์อันเป็นที่ตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงทรงเสวยวิมุติสุขบนบัลลังก์ซุ้มเรือนแก้วเป็นเวลา 7 วัน เรียกกันสืบต่อมาว่า "รัตนฆรเจดีย์"

ด้วยความเป็นเอกทางศิลปะของช่างโบราณ ซุ้มจึงถูกจำหลักขึ้นเป็นครีบของมกร และสื่อให้เห็นถึงการเปล่ง "ฉัพพรรณรังสี" ออกจากวรกายของพระพุทธองค์เป็นที่ประจักษ์อีกด้วย ฉัพพรรณรังสี ประกอบด้วยรังสี 6 ชนิด ได้แก่ 1.นีตะ สีเขียวเข้มเหมือนดอกอัญชัน ดอกสามหาว หรือกลีบบัวเขียว 2.ปีตะ สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง หรือทองคำ 3.โลหิตตะ สีแดงดุจตะวัน สีดั่งผ้ากัมพล ดอกราชพฤกษ์ ดอกทองกวาว 4.มัญเชฏฐา สีหงสบาท อันหมายถึงสีม่วงเหมือนดอกเซ่ง หรือดอกหงอนไก่ 5.โอทาตะ สีขาวเหมือนแผ่นเงิน หรือน้ำนม 6.ประภัสสร เป็นสีเลื่อมพราย เหมือนแก้วผลึก

นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า ซุ้มเรือนแก้วอาจจะเป็นพัฒนาการขั้นต้นๆ ของ "สินเทา" หรือการแบ่งช่องบนงานจิตรกรรมฝาผนังของไทยโบราณ โดยสินเทาจะเป็นรอยขยักทำให้ภาพเกิดมิติระหว่างในซุ้มกับนอกซุ้ม ดังนั้น ซุ้มเรือนแก้วจะช่วยให้องค์พระดูมีมิติหรือมีความลึกอันทำให้องค์พระดูงดงามและสมจริงมากยิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นมรดกทางภูมิปัญญาของช่างโบราณอย่างยอดเยี่ยมครับผม

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/ซุ้มเรือนแก้ว พระพุทธชินราช