ส่วนของสมาชิก

จิ๋วแต่แจ๋ว นางวังมะสะ

จิ๋วแต่แจ๋ว นางวังมะสะ

หน้าแรก » กรุพระ » พระเครื่อง » จิ๋วแต่แจ๋ว นางวังมะสะ
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

จิ๋วแต่แจ๋ว ... นางวังมะสะ

"พูดถึงพระกรุประเภท ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ อีกชนิดหนึ่ง ต้องยกให้ นางพญากรุวังมะสะ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ที่มีอายุถึงยุคสุโขทัย"

‘วังมะสะ’ นั้น เป็นชื่อหมู่บ้านแหล่งที่พบพระสมัยสุโขทัยมากมายหลายประเภท ด้วยเหตุที่มีความเล็กกระทัดรัดและทรวดทรงอ้อนแอ้น องค์พระมีขอบในเป็นรูปสามเหลี่ยม ผู้คนเลยยกให้เป็นตระกูล "นางพญา" เช่นเดียวกับ นางพญาพิษณุโลก แต่มีขนาดเล็กและบางกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด พระกรุนี้แตกกรุในช่วงปี พ.ศ.2500 มีจำนวนมากพอสมควร ชาวบ้านขุดตามบริเวณโบราณสถานเก่าๆ ไล่ตั้งแต่เขตตำบลสะพานหิน โดยพบ ‘ขุนแผนกรุวังมะสะ’ เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะแถบบริเวณสระน้ำโบราณของหมู่บ้าน อันมีซากเจดีย์เก่าแก่ยืนปรักหักพังอยู่ไม่ไกลนัก คณะขุดกรุครั้งแรกมีด้วยกัน 4-5 คน ใช้เวลาอยู่ถึงสามวันโดยขุดลึกลงไปประมาณ 6 เมตร บังเอิญพบอิฐเก่าก่อเป็นสี่เหลี่ยม ด้านบนมีฝาทำจากอิฐเผากว้างกว่าหนึ่งเมตรปิดทับอยู่ นับเป็นการพบ

25590406_05-1

นางกรุวังมะสะ เป็นครั้งแรกและมีจำนวนมากพอสมควร เรียกว่าจำหน่ายจ่ายแจกกันทั่วทุกครัวเรือนเพราะมีคนจ้องขอแบ่งกันร่วม 20-30 คน ที่ปากหลุม ได้รับแจกไปคนละกำมือแล้วยังเหลืออีกจำนวนหนึ่ง เมื่อขุดลึกลงไปก็พบพระเครื่องเนื้อชินอีก มีทั้ง พระปางลีลา พระพิมพ์คล้ายกับพระลพบุรี เช่น นารายณ์ทรงปืน แต่ศิลปะยังไม่ลึกเท่าพระลพบุรี

นางกรุวังมะสะ ที่ขุดพบมีทั้งเนื้อชินเงินและเนื้อดิน ชินเงินพบน้อย ส่วนเนื้อดินมีหลายสีตั้งแต่ สีดำสนิทผสมผงใบลาน เนื้อดินจะละเอียดและหาชมได้ยากมาก ยังมีเนื้อมันปู คือออกสีแดงเข้ม เนื้อดินสีแดงอ่อนและสีแดงหยาบ อันเกิดจาการเผาแล้วโดนไฟไม่เท่ากัน แต่บางองค์โดนไฟน้อยมากเกือบจะเป็นดินดิบไปก็มี ซึ่งถ้าเอาโสรจสรงลงน้ำจะยุ่ยเสียของหมด

นางวังมะสะ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ‘พระพิจิตรข้างเม็ด’ เนื้อชินเงิน ที่มีผิวปรอทจับ และในองค์ที่เป็นเนื้อดินออกมันปูก็จะมีคราบไขขาวขึ้นเช่นเดียวกัน ประทับนั่งปางมารวิชัย ทรวดทรงอ่อนช้อยจนคิดว่าเป็นพระตระกูลเดียวกัน บางองค์ก็ตัดเป็นสามเหลี่ยมชิดองค์พระ บางองค์ก็ตัดมีปีกยื่นออก แต่เกือบทั้งหมดขนาดจะเล็กกว่า ด้านหลังของเนื้อดินจะเห็นรอยลายนิ้วมือกดลงพิมพ์แล้วดึงออกมาโดยใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ ด้านหลังจึงนูนขึ้นเป็นสันลักษณะคล้าย ‘พระหูไห’

เมื่อเหลือจากแจกจ่ายในหมู่ชาวบ้านแล้ว วัดสะพานหินได้นำพระที่เหลือเปิดให้เช่าบูชาองค์ละ 5บาท โดยจำหน่ายทั้งที่พรหมพิรามเองและในตลาดเมืองพิษณุโลก ในชั้นแรกผู้คนเห็นเป็นพระขนาดเล็กจึงไม่ค่อยสนใจ กรรมการวัดได้ปัจจัยเพียง 1,500 บาท ต่อมาภายหลังเมื่อผู้คนที่บูชาไปมีประสบการณ์ โดยเฉพาะทางด้านแคล้วคลาด คงทน ยิงไม่เข้าฟันไม่ออก และป้องกันเขี้ยวขออสรพิษ แม้แต่สุนัขยังกัดไม่เข้า จึงเริ่มเป็นที่เสาะแสวงหา

เนื่องจาก ‘นางวังมะสะ’ เป็นพระที่มีขนาดเล็กบวกกับชื่อตระกูล "นาง" จึงเป็นที่นิยมของสุภาพสตรีแม่ค้าแม่ขาย ถือว่ามีเมตตามหานิยม ทำมาค้าขึ้น แต่นับวันก็จะหายากเพราะผู้คนหันมานิยมอาราธนาขึ้นคอเป็นพระชุดเล็ก พุทธคุณดีเยี่ยมและสนนราคาก็ไม่แพงเกินกว่าจะหยิบฉวยได้ แต่ถ้าถามว่าปัจจุบันมีปลอมหรือยัง ต้องตอบเสียงดังฟังชัดเลยครับว่ามีมานานแล้วก็ต้องหัดดูหัดจำให้แม่น เรียกว่าขึ้นคอได้ไม่อายใครสำหรับพระจิ๋วแต่แจ๋วประเภทนี้ครับผม

โดย ราม วัชรประดิษฐ์ แฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง

ที่มา: www.aj-ram.com/view/จิ๋วแต่แจ๋ว นางวังมะสะ