ส่วนของสมาชิก

พระวัดรังษี

พระวัดรังษี

หน้าแรก » กรุพระ » พระเครื่อง » พระวัดรังษี
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

พระวัดรังษี

"ในอดีตพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งถึงของดีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า ผู้ใดมีพระวัดรังษี ผู้นั้นชีวีไม่วางวาย"

ถ้ากล่าวถึง “พระวัดรังษี” หลายคนคงรู้จักดี เนื่องจากเป็นพระที่มีชื่อเสียงมากและเป็นที่นิยมสูงในอดีต ดังพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งของการกล่าวถึงของดีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า "ผู้ใดมีพระวัดรังษี ผู้นั้นชีวีไม่วางวาย" ซึ่งนับเป็นคำกล่าวที่ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ ก็สามารถบ่งบอกถึงคุณค่าของพระวัดรังษีอย่างที่จะหาพระวัดใดเทียบเท่าได้แล้ว ทำให้สนนราคาเช่าหาในช่วงนั้นแพงกว่าพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมถึง 3-4 เท่าทีเดียว ณ ปัจจุบัน ถือเป็นพระเครื่องที่หายากมาก

เดิมบริเวณ “วัดบวรนิเวศวิหาร” เป็นที่ตั้งของวัด 2 วัดซึ่งอยู่ติดกัน คือ วัดบวรนิเวศและวัดรังษี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาปวเรศฯ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ก็ใกล้ชิดสนิทสนมกับ ท่านเจ้าคุณธรรมกิติ เจ้าอาวาสวัดรังษี มาก ไปมาหาสู่เพื่อแลกเปลี่ยนและศึกษาหาความรู้กันเป็นประจำ ต่อมาเมื่อท่านเจ้าคุณธรรมกิติมรณภาพ สมเด็จพระสังฆราช กรมพระยาปวเรศฯ จึงรวมวัดรังษีเข้ากับวัดบวรนิเวศ ตั้งชื่อใหม่ว่า "วัดบวรรังษี" ซึ่งก็คือ "วัดบวรนิเวศวิหาร"

พระวัดรังษี นั้น แบ่งแยกได้ทั้งหมด 4 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ เนื้อผงขาว พิมพ์ใหญ่ เนื้อผงดำ ลงรักล่องชาดและปิดทอง หลังกดตรายันต์ พิมพ์กลาง เนื้อผงขาว ศิลปะหน้าตักจะเหมือนเลข 8 แนวนอน และพิมพ์เล็ก เนื้อผงขาว ศิลปะหน้าตักเหมือนเลข 8 แนวนอน นอกจากนี้ ในแต่ละพิมพ์ก็มีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ให้สังเกตอีกมาก อาทิ พระวัดรังษี เนื้อผงขาว ทั้งพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก นั้น มีทั้งชนิดปิดทองและไม่ปิดทอง

ข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ กรรมวิธีการปิดทองของพระวัดรังษีจะแตกต่างจากพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งจะนำองค์พระจุ่มรักก่อนแล้วจึงปิดด้วยทองคำเปลว แต่สำหรับพระวัดรังษีของท่านเจ้าคุณธรรมกิติ นั้น ไม่มีการจุ่มรัก ท่านเจ้าคุณฯ จะใช้ทองคำเปลวปิดลงบนแม่พิมพ์ก่อนแล้วจึงกดพิมพ์ เมื่อถอดพระออกทองคำเปลวก็จะติดบนองค์พระ กรรมวิธีดังกล่าวนี้จึงทำให้ทองคำเปลวติดไม่แน่นนัก เมื่อผ่านกาลเวลายาวนานถึงปัจจุบันเป็นร้อยปี องค์พระจึงมีทองเปลวติดอยู่บ้างและหลุดลอกไปบ้าง ด้านเนื้อมวลสารที่ใช้สร้างองค์พระก็จะมีลักษณะแห้งและหดตัวมาก ทำให้เส้นสายต่างๆ บนองค์พระเกิดเป็นเส้นนูนและคมชัดเจน เส้นนูนแต่ละเส้นตรงรอยที่ติดกับพื้นขององค์พระจะเป็นร่องของการหดตัวคอดกิ่วเหมือนเอาเส้นขนมจีนไปวางเรียงไว้ ถ้าพิจารณาพุทธลักษณะโดยรวมแล้วค่อนข้างจะเหมือนกับพระกริ่งที่มีศิลปะแม่พิมพ์ลึกมาก ดังนั้น แนวทางการพิจารณาน่าเริ่มจากการจดจำภาพรวมของลักษณะหน้าตา ลำตัว แขน มือ หน้าตัก และฐาน รวมทั้งเนื้อมวลสารและเอกลักษณ์ของพื้นผิวขององค์พระก่อน แต่ที่สำคัญขอเน้นเรื่อง“หน้าตา” เหมือนกับเราจดจำคนนั่นแหละ พบเห็นหน้ากันบ่อยๆ ก็จะคุ้นตาชินตา ยกตัวอย่างพระวัดรังษี พิมพ์ใหญ่

25590423_04-1

“พระวัดรังษี พิมพ์ใหญ่” ทั้งเนื้อผงขาว และเนื้อผงสีดำ ลงรักล่องชาดและปิดทอง หลังกดตรายันต์ มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ องค์พระประธาน ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระบาทข้างขวาขององค์พระที่ทับอยู่บนพระบาทข้างซ้ายจะลึกเห็นเป็นลำน่องอย่างชัดเจน สาเหตุมาจากการหดตัวขององค์พระนั่นเอง ขอบแม่พิมพ์เส้นนอกเป็นเส้นโค้ง เส้นในเป็นเม็ด ส่วนปีกขอบจะปลิ้นขึ้นและเป็นสันคม บริเวณกึ่งกลางของพระกรรณ จะมีลักษณะยุบลง และส่วนปลายพระกรรณ มีเม็ดยื่นทั้งสองข้าง พระกรด้านซ้ายขององค์พระถือคนโทน้ำมนต์ พระอังคุฐ มีลักษณะเหมือนก้ามปู ผ้าทิพย์ ที่อยู่ระหว่างพระเพลาและฐานขององค์พระจะลึกและเป็นสันคมมาก ดอกบัวด้านล่างข้างขวาสุดขององค์พระไม่ติดขอบบนของฐาน พิมพ์ด้านหลัง นูนเหมือนหลังเบี้ย ปรากฏรอยเหมือนลายเส้นหัวแม่มือ ขอบด้านหลังจะคมและม้วนไปข้างหน้า และส่วนที่แตกต่างคือพระวัดรังษี พิมพ์ใหญ่ เนื้อผงสีดำ ลงรักล่องชาดและปิดทอง หลังกดตรายันต์ นั้น นอกจากจะลงรักล่องชาดและปิดทอง แล้ว ด้านหลังจะมีตรายันต์ประทับอยู่ด้วย เป็นต้น

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/พระวัดรังษี