ส่วนของสมาชิก

พระกริ่งปวเรศ

พระกริ่งปวเรศ

หน้าแรก » กรุพระ » พระเครื่อง » พระกริ่งปวเรศ
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

พระกริ่งปวเรศ

"ชื่อเสียงเป็นที่เคารพบูชาและได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่พุทธศาสนิกชนและผู้นิยมสะสมพระเครื่องทั่วไป"

25590422_03-1

“พระกริ่งปวเรศฯ” สุดยอดของพระกริ่งในประเทศไทย สร้างโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ตามตำราการสร้างพระกริ่งที่ได้รับตกทอดมาจากสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว

“พระกริ่งปวเรศฯ” เป็นพระเนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อขององค์พระจะออกสีจำปา คือ ค่อนข้างอมทองแดง สนิมที่ปรากฏตามผิวจะออกสีน้ำตาลอมดำ ใช้โลหะเป็นมวลสารทั้งหมด 9 ชนิด เรียกว่า “นวโลหะ” คือ ทองคำ เงิน ทองแดง สังกะสี ปรอท บริสุทธิ์ เหล็กละลายตัว เจ้าน้ำเงิน และชิน ตามตำราการสร้างแต่โบราณ นอกจากนี้ ท่านเจ้าประคุณฯ ทรงนำเนื้อฐานของพระพุทธชินสีห์ ที่จำลองมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก เพื่อประดิษฐานที่วัดบวรฯ ซึ่งเก็บไว้ตั้งแต่คราวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณะฐานใหม่เมื่อปี พ.ศ.2409 เข้ามารวมเป็นเนื้อมวลสารด้วย ทรงนำส่วนผสมทั้งหมดมารวมกันแล้วตีเป็นแผ่นบางๆ ลง “ยันต์ 108” กับ “นะปถมัง 14” เมื่อถึงฤกษ์งามยามดีจึงเทหล่อเป็น “พระกริ่งปวเรศฯ” ใช้กรรมวิธีการเทแบบ “อุดก้น” ด้วยแผ่นทองแดงและกำกับปีสร้างประมาณ พ.ศ.2416 ถึง 2434 การจัดสร้างในครั้งนั้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ และเหล่าเชื้อพระวงศ์โดยเฉพาะ จำนวนการสร้างจึงน้อยมาก น่าจะไม่เกิน 30 องค์

“พระกริ่งปวเรศฯ” สร้างโดยถอดรูปแบบและแนวทางการสร้างมาจาก “พระกริ่งใหญ่” ซึ่งเป็นพระกริ่งนอก เนื้อเป็นเนื้อสัมฤทธิ์ และขนาดขององค์พระพอๆ กัน พระพุทธปฏิมากรรมก็เหมือนกัน และเป็นพระที่ถอดพิมพ์จากแม่พิมพ์เดียวกันทุกองค์เช่นเดียวกัน ดังนั้นตำหนิแม่พิมพ์ของพระกริ่งปวเรศฯ จึงเหมือนกันทุกองค์

แต่พุทธศิลปะของ “พระกริ่งปวเรศฯ” จะแตกต่างกับ “พระกริ่งใหญ่” โดยสิ้นเชิง สันนิษฐานได้ว่าท่านเจ้าประคุณฯ เพียงอาศัยเค้าโครงของพระกริ่งใหญ่เท่านั้น แต่ปั้นพิมพ์ขึ้นมาใหม่จากจินตนาการอันทรงพระปรีชาชาญของท่านเจ้าประคุณฯ พุทธศิลปะของ “พระกริ่งปวเรศฯ” เป็นพระกริ่งที่แสดงออกในด้านศิลปะแบบไทยบริสุทธิ์ เป็นลักษณะของศิลปะแบบอู่ทองสุวรรณภูมิหรืออู่ทองตอนต้นโดยแท้ แม้จะเป็นพระกริ่งขนาดเล็ก ก็สามารถถ่ายทอดถึงอารมณ์อันเคร่งขรึมและสงบราวกับสิ่งมีชีวิต

“พระกริ่งปวเรศฯ” สร้างเป็นพระพุทธรูปลอยองค์ ประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบบนฐานบัวคว่ำบัวหงายสองชั้น ชั้นละ 7 กลีบ และบัวด้านหลังอีก 1 กลีบคู่ หลักการการพิจารณามีดังนี้

  • กลีบบัวจะไม่กลมเหมือนกริ่งนอก ซึ่งค่อนข้างนูนและกลม
  • พระกริ่งทุกชนิดจะมีบัวเฉพาะด้านหน้าเป็น 7 กลีบคู่ แต่ “พระกริ่งปวเรศฯ” เพิ่มบัวหลังอีก 1 กลีบคู่ ทำให้ไม่เหมือนกับพระกริ่งใดเลย มูลเหตุที่เพิ่มบัวด้านหลัง เนื่องด้วยท่านเจ้าประคุณฯ เป็นสังฆราชองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง
  • พระหัตถ์ซ้ายทรง “วชิระ”
  • ที่ขอบจีวรตรงพระอุระกับชายจีวรที่พระพาหาจะไม่มีเม็ดไข่ปลาอย่างกริ่งนอก
  • จากพระพักตร์ ช่วงกลางขององค์พระ และฐานบัวประทับ ถ้าสังเกตทางด้านข้างจะเห็นว่าแบนกว่าพระกริ่งใหญ่

ด้านก้นของ “พระกริ่งปวเรศฯ” อุดด้วยแผ่นฝาบาตรทองแดงบุ๋มเป็นแอ่งกะทะ ภายในบรรจุเม็ดกริ่งไว้ เขย่ามีเสียงดัง โดยเฉพาะด้านข้างของกลีบบัวหลังจะปรากฏจุดลับตอกรูปเม็ดงาไว้กันปลอมแปลง

พุทธคุณอันล้ำเลิศของพระกริ่งปวเรศฯ จะเป็นที่กล่าวขานกันมากในด้านการรักษาโรค เพราะคำว่า “พระไภษัชคุรุ” นั้นแปลว่าผู้เป็นเลิศทางรักษาโรค มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระวนรัต (แดง) อาพาธเป็นโรคอหิวาต์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์เสด็จไปเยี่ยม และทรงนำพระกริ่งปวเรศฯ มาทำน้ำพระพุทธมนต์ให้ฉัน ปรากฏว่าสมเด็จพระวนรัตมีอาการดีขึ้นๆ และหายเป็นปกติในที่สุด

อาจด้วยมูลเหตุนี้เอง ทำให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชแพ แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งประทับอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเกิดความสนพระทัย ต่อเมื่อได้รับ “ตำราการสร้างพระกริ่ง” สืบทอดมาจาก “ท่านเจ้ามา” วัดสามปลื้ม จึงเริ่มสร้างพระกริ่งขึ้นมากมาย พระกริ่งที่สร้างจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชแพและวัดสุทัศนเทพวรารามกลายเป็นพระเครื่องที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพบูชาและได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่พุทธศาสนิกชนและผู้นิยมสะสมพระเครื่องทั่วไป

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/พระกริ่งปวเรศ