ส่วนของสมาชิก

หลวงพ่อจุก

หลวงพ่อจุก

หน้าแรก » กรุพระ » พระเครื่อง » หลวงพ่อจุก
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

หลวงพ่อจุก จังหวัดลพบุรี

"พุทธศิลปะจะผิดแปลกไปจากพระสกุลลพบุรีอื่นๆ โดยสิ้นเชิง กลับไปคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปแบบลังกา"

“หลวงพ่อจุก” หนึ่งในพระกรุเก่าแก่ของดีของจังหวัดลพบุรี มีอายุอานามราว 800 ปี พุทธลักษณะลงตัวสมส่วนแลดูสง่างาม แต่ความน่าสนใจอยู่ที่พุทธศิลปะจะผิดแปลกไปจากพระสกุลลพบุรีอื่นๆ โดยสิ้นเชิง กลับไปคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปแบบลังกา นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ต้นสายปลายเหตุที่มีพุทธศิลปะเป็นแบบลังกานั้น ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองสยามอันเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา และมีความสัมพันธ์ทางศาสนาอย่างต่อเนื่องกับประเทศลังกามาตั้งแต่อดีตกาล กอปรกับพระมหากษัตริย์ที่ปกครองประเทศทุกๆ พระองค์ ล้วนทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาธรรมและทรงเป็นพุทธอัครศาสนูปถัมภกอย่างแท้จริงมาโดยตลอด

เริ่มในราวพุทธศตวรรษที่ 18 พุทธศาสนาลัทธิหินยานแบบลังกาวงศ์เผยแผ่เข้ามาถึงประเทศไทย และมีการส่งพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยไปศึกษาพระธรรมวินัยจากประเทศลังกา รวมทั้งได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ชาวลังกาเข้ามาสั่งสอนศาสนาในประเทศไทยมากมาย ทั้งที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสุโขทัย ไปจนถึงเมืองลพบุรี ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ จังหวัดลพบุรีมีวัดลังกาอยู่ถึง 2 วัด คือ วัดลังกาและวัดสิงหล แต่ ณ ปัจจุบันไม่หลงเหลือซากปรักหักพังให้เห็นแล้ว ดังนั้น จึงทำให้พุทธศิลปะของพระพุทธรูปลพบุรีจึงได้รับอิทธิพลจากลังกามาผสมผสานอยู่ด้วย แต่เฉพาะ“หลวงพ่อจุก” เท่านั้นที่เป็นแบบลังกาโดยตรง จึงสันนิษฐานได้ว่า พระภิกษุสงฆ์ชาวลังกาน่าจะเป็นผู้สร้างขึ้นเอง และพระภิกษุสงฆ์ชาวลังกาที่นิมนต์มาเผยแผ่ศาสนานั้นเป็นฝ่ายอรัญญวาสผู้มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและวิปัสสนาธุระเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นที่เชื่อถือกันในเรื่องของพุทธคุณอันเข้มขลังทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะที่ปรากฏแก่สายตาเป็นที่ประจักษ์ในด้านคงกระพันชาตรี มหาอุด และแคล้วคลาด เป็นที่ยอมรับของสาธุชนชาวพุทธโดยถ้วนหน้า

25590419_02-1

“หลวงพ่อจุก” มีการค้นพบตามกรุและเจดีย์รายทั่วไปในลพบุรี โดยเฉพาะกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อดินที่เป็นเนื้อชินมีน้อยมาก ขนาดขององค์พระค่อนข้างใหญ่ ส่วนฐานกว้างประมาณ 3.5 ซม. สูงประมาณ 6.5 ซม.เป็นพระพิมพ์แบบครึ่งซีก องค์พระประทับนั่ง แสดงปางสมาธิขัดราบขวาทับซ้าย เหนือพุทธบัลลังก์ฐานเขียงซึ่งมีทั้งฐานสูงและฐานเตี้ย พระเกศจิ่มป้านใหญ่คล้าย “จุก” อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญและนำมาขนานนามองค์พระ พระเกศาเป็นเส้นและเวียนรอบพระเศียร พระพักตร์กลมป้อมอิ่มเอิบ ปรากฏรายละเอียดชัดเจน ทั้งพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระอังสากลมมนสมส่วน พระอุระแลดูผึ่งผายงามสง่า พระวรกายเว้าแบบ“ตัววี (V)” เส้นจีวรและสังฆาฏิคมชัดเจน และพระหัตถ์ขวาซ้อนบนพระหัตถ์ซ้ายอยู่เหนือพระเพลา

ด้วยพุทธลักษณะเฉพาะที่สง่างาม และพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏ แม้ช่วงแรกๆ ที่พบนั้นจะยังไม่เป็นที่นิยมนัก แต่ต่อมาเมื่อพุทธคุณปรากฏประจักษ์ และบอกเล่าต่อๆ กัน ทำให้กลายเป็นที่นิยมและแสวงหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นหนึ่งในพระเครื่องยอดนิยมของจังหวัดลพบุรี และกลายเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนและผู้นิยมสะสมพระเครื่องกันอย่างทั่วถึง ไม่เกี่ยงว่าองค์พระออกจะดูใหญ่ไปสักหน่อย

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/หลวงพ่อจุก จังหวัดลพบุรี