ส่วนของสมาชิก

หลวงพ่อพุ่ม

หลวงพ่อพุ่ม

หน้าแรก » กรุพระ » เหรียญพระพุทธ » หลวงพ่อพุ่ม
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่ กทม.

"ได้รับการยกย่องและจัดให้เป็นหนึ่งในห้าของเหรียญชุด เบญจภาคี ของเมืองไทย"

พระครูรัตนรังษี หรือ หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่นอก ถนนตก ยานนาวา เป็นพระเถระโบราณผู้มีวิทยาคมสูง  สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ ให้ความเคารพหลวงพ่อมาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ก็เป็นศิษย์คนหนึ่งของหลวงพ่อ ก่อนที่หลวงพ่อจะแนะนำให้ไปหาหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ศิษย์อีกองค์ที่เป็นที่รู้จักดีคือ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งหลวงพ่อพุ่มก็ได้แนะนำหลวงปู่โต๊ะ ไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี

หลวงพ่อพุ่ม กำเนิดเมื่อประมาณปี  พ.ศ.2399 ณ  บ้านข้างวัดสนามแดง  อำเภอบางพลี  จังหวัดสมุทรปราการ ในสมัยเด็กท่านชอบแสวงหาศึกษาสิ่งเร้นลับ อายุได้  12  ปี  บิดามารดาได้พาไปบวชเป็นสามเณรที่วัดสนามแดง บางพลี จนอายุ  20  ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยได้รับนามฉายาว่า "จันทโชติ"  หลวงพ่อพุ่มสนใจในด้านวิปัสสนาคันธุระเป็นพิเศษ จึงได้ออกธุดงควัตร ท่านมีชื่อเสียงมากทางวิปัสสนากรรมฐาน สมัยก่อนพระองค์ใดที่จะขึ้นกรรมฐาน ต้องมาขึ้นกับหลวงพ่อที่วัด มีอาทิ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี และหลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส เป็นต้น  นอกจากนี้ท่านยังเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคและคุณไสย ซึ่งรักษาโดยใช้ ไม้คฑา เพียงอันเดียว ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในวัตปฏิบัติ พูดน้อย สมถะ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ไกล

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2461 ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางโคล่นอก ด้วยผลงานอันดีเด่น ท่านจึงได้รับสมณศักดิ์เป็นพระปลัดพุ่ม และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น "พระครูรัตนรังษี" ฝ่ายวิปัสนาและเป็นพระอุปฌาย์ เมื่ออายุ 65 พรรษา 45 หลวงพ่อพุ่มมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2489 รวมสิริอายุได้ 90 ปี 70 พรรษา ในคราวงานศพหลวงพ่อสมัยนั้นเสือไทผู้มีวิทยาอาคมสูง เป็นศิษย์ร่ำเรียนวิชากับหลวงพ่อพุ่ม ตอนหลังกลับตัวกลับใจไม่ทำชั่ว เพราะหลวงพ่อขอให้เลิก  ซึ่งเคารพนับถือหลวงพ่อพุ่มเป็นอย่างมาก ได้มาร่วมงานศพที่วัด ทางตำรวจทราบดีว่าเสือไทต้องมาร่วมงานศพแน่ จึงเตรียมแผนล้อมจับนับร้อยนาย เมื่อเสือไทมาปรากฏตัวในงาน ก็มีผู้เห็น ทั้ง พระและชาวบ้านหลายคนที่จำได้ เห็นตอนที่มาวางดอกไม้จันทน์บนเมรุ ไม่ทราบว่ารอดพ้นสายตาตำรวจนับร้อยที่เตรียมการล้อมจับได้อย่างไร โดยเมื่อได้วางดอกไม้จันทน์แล้ว ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และหลังจากเสร็จงานศพหลวงพ่อพุ่มแล้ว ก็ไม่มีใครเห็นเสือไทอีกเลย

วัตถุมงคลหลวงพ่อพุ่มล้วนเป็นที่นิยมและแสวงหา โดยเฉพาะ เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อพุ่มที่ปลุกเสกทันท่านซึ่งมี 2 รุ่น คือ รุ่นแรก ปี 2478 และ รุ่น ปี 2482

เหรียญหลวงพ่อพุ่ม รุ่นแรก ปี 2478 ได้รับการยกย่องและจัดให้เป็นหนึ่งในห้าของเหรียญชุด  เบญจภาคี”  ของเมืองไทยซึ่งเป็นการจัดลำดับในสมัยก่อน ได้แก่  1. เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง 2. เหรียญหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติฯ 3. เหรียญหลวงปู่ศุข วัดปากคลองฯ 4. เหรียญหลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่นอก 5. เหรียญหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ที่ได้รับความนิยมอย่างมากและมีราคาสูง ปรากฏประวัติการสร้างชัดเจนคือ จัดสร้างเพื่อแจกในงานทำบุญอายุ 77 ปี หลวงพ่อพุ่ม ในปี พ.ศ.2477 ปี โดย พระครูวินัยธรสวัสดิ์ สำนักวัดมหาธาตุ ศิษย์เอกของท่านเป็นธุระในการออกแบบจัดสร้าง จำนวน 1,000 เหรียญ สร้างด้วยเนื้อทองแดง ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ค่อนข้างกลมแบบหูเชื่อม ขอบเหรียญด้านหน้าและหลังยกเป็นสองชั้น ชั้นนอกเป็นเส้นหนา ชั้นในเป็นเส้นเล็กเรียวเหมือนเส้นลวดทำให้เหรียญดูมีมิติคือดูลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งด้านหน้า มีพิมพ์เดียว เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อพุ่มคมชัด ด้านหลัง เป็นยันต์น้ำเต้าทอง มีอักขระด้านบนเป็นตัว อุณาโลม (แปลว่าขนระหว่างคิ้ว) อักขระในยันต์น้ำเต้าทองคือตัว นะ ด้านล่างทำเป็นแถวเดียวเขียนอักขระ มะ อะ อุ แบ่งออกเป็น  2 พิมพ์ ในวงการเรียก พิมพ์อุชิด กับ พิมพ์อุไม่ชิด 

พิมพ์อุชิด ปลายหางอุณาโลมจะจรดขอบ ไส้ตัวมะจะขีดเป็นเส้นตรง (เลยเรียกตัวหนังสือตรง) หัวตัวอุจะขมวดกลมไม่เป็นเหลี่ยมเหมือนพิมพ์แรก เส้นขอบนอกเหรียญโค้งทับเส้นขอบในเป็นช่วงๆ ซึ่งตัวอุณาโลมนี้ปลายยอดจะต้องอยู่กึ่งกลางเหรียญทั้งสองพิมพ์ถ้าของเก๊จะค่อนไปทางขวา

ส่วน พิมพ์อุไม่ชิด หมายถึง ปลายหางอุณาโลมห่างจากขอบเหรียญและในพิมพ์นี้ไส้อักขระตัว มะ จะมีเส้นเล็กและโค้ง คนโบราณบางทีเรียกพิมพ์นี้ว่าพิมพ์ตัวหนังสือโค้ง ส่วนหัวอักขระตัว อุ จะหักเป็นเหลี่ยม เส้นสายต่างๆ ของยันต์จะเล็กกว่าอีกพิมพ์หนึ่ง ที่สำคัญเฉพาะพิมพ์นี้ขอบเหรียญด้านนอกจะโค้งทับขอบเหรียญด้านในเกือบตลอดเหรียญยกเว้นขอบด้านล่างซ้ายจะทิ้งเป็นช่องว่างเนื่องจากขอบด้านนอกไม่โค้งทับเส้นในทุกเหรียญ

นอกจากนี้ ให้สังเกตด้านหน้าที่มีพิมพ์เดียว คือ รูปหลวงพ่อพุ่มจะคมชัด ตาเป็นเม็ดไข่ปลา ริมฝีปากล่างมีรอยพิมพ์แตกเป็นเส้นนูนตรงกลาง ส่วนมุมปากด้านในของหลวงพ่อมีตุ่มรอยพิมพ์แตกเป็นเม็ด และใบหูด้านซ้ายของหลวงพ่อไม่ติดกับรูปหน้า

สำหรับอีกหนึ่งรุ่น คือ เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อพุ่ม ปี พ.ศ.2482 สร้างโดย ท่านมหาคาย ชาวชัยนาท ทำขึ้นแจกผู้ช่วยออกทุนสร้างกุฏิ วัดบางโคล่นอก สร้างประมาณ 500 เหรียญ โดยให้หลวงพ่อปลุกเสก มีลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ชะลูดกว่ารุ่นแรก ด้านหน้าเพิ่มตัวอักษร "เพื่อเป็นที่ระฤก  พระครูรัตนรังษี" และขอบยกเป็นสองชั้น ส่วนด้านหลังเหมือนกับรุ่นแรก แต่ขอบยกสูงเพียงขอบเดียวครับผม

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่ กทม.