ส่วนของสมาชิก

พระพุทธชินราช

พระพุทธชินราช

หน้าแรก » กรุพระ » พระพุทธรูป » พระพุทธชินราช (จ.พิษณุโลก )
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

พระพุทธชินราช

"เป็นที่ยอมรับและยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงามที่สุดในโลก ถ้าผู้ใดมีโอกาสไปเที่ยวพิษณุโลก"

ประเทศไทยเรามีพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ มากมาย แต่ที่นับว่าสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกนั่นก็คือ “พระพุทธชินราช” พระประธานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก เพราะเป็นที่ยอมรับและยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงามที่สุดในโลก ถ้าผู้ใดมีโอกาสไปเที่ยวพิษณุโลก แล้วไม่ได้ไปกราบนมัสการขอพรและชื่นชมความงดงามขององค์ “พระพุทธชินราช” ก็นับว่าไปไม่ถึงเมืองพิษณุโลกหรือบุญวาสนาไม่พอ 

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลปะผสมผสานกันระหว่างศิลปะเชียงแสนและสุโขทัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ องค์พระประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว และสูง 7 ศอก องค์พระมีสัดส่วนลงตัวกับพระอุโบสถ สร้างความสะดวกในการกราบไหว้สักการะและชื่นชมความสง่างามอย่างใกล้ชิดในแบบพุทธศิลปะเชียงแสน และได้สัมผัสกับความรู้สึกของความเยือกเย็นสุขสงบ ความปลาบปลื้มปีติอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ผู้สร้าง “พระพุทธชินราช” คือ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เจ้านครเชียงแสน ซึ่งแผ่อำนาจมาจนถึงนครศรีสัชนาลัย แล้วเสด็จลงมาตั้งเมืองพิษณุโลก เพื่อให้เจ้าไกรสรราช พระราชโอรสอันเป็นพระราชนัดดาของเจ้านครศรีสัชนาลัยอยู่ครอง พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงสร้างวัดมหาธาตุและพระวิหารใหญ่ วิหารทิศขึ้น แล้วทรงหล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศาสดา เมื่อวันพฤหัสบดี เพ็ญเดือน 4 ปีจอ พุทธศักราช 1499 เสร็จพร้อมกัน 2 องค์ คือ พระศรีศาสดาและพระพุทธชินสีห์ ส่วนพระพุทธชินราชนั้นหล่อไม่สำเร็จเพราะทองไม่เดินตามปกติ ในปีต่อมาจึงให้ช่างปั้นหุ่นพระพุทธชินราชใหม่ และหล่อได้สำเร็จในปี พ.ศ.1500 เมื่อทำการหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์เสร็จสิ้น ปรากฏว่าทองที่ใช้ในการหล่อครั้งนี้ยังเหลืออยู่ จึงได้ให้ช่างเอาเศษทองที่เหลือหล่อพระพุทธรูปองค์เล็กอีกหนึ่งองค์ เรียกชื่อว่า "พระเหลือ" แล้วอัญเชิญทั้งหมดประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ 

ใน "พระราชพงศาวดารเหนือ" ที่พระวิเชียรปรีชา (น้อย) รวบรวมขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้กล่าวถึงการหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ เช่นกันความว่า

"...ครั้นได้ฤกษ์ดีจึงเอาพิมพ์เข้าเตา วันเธอหล่อนั้นวันพฤหัสบดี เพ็ญเดือนสี่ ปีจอ ชุมนุมพระสงฆ์ทั้งหลาย มีพระอุบาลี และพระศิริมานนท์เป็นประธาน และพระสงฆ์เจ้าทั้งหลาย หล่อให้พร้อมกันทั้งสามรูป แลรูปพระศรีศาสดา พระชินสีห์ทั้งสองพระองค์นั้นทองแล่นเสมอกันบริบูรณ์ ยังแต่พระพุทธชินราชเจ้านั้นมิได้เป็นองค์เป็นรูป จนพระอินทร์ต้องเนรมิตกายเป็น "ตาปะขาว" มาช่วยหล่อจึงสำเร็จ…”

พระมหากษัตริย์ไทยและเชื้อพระวงศ์แทบทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน ต้องเสด็จไปกราบไหว้นมัสการ พระพุทธชินราช ที่ จ.พิษณุโลก และต่างทรงชื่นชมในความสง่างามเกิดความเคารพศรัทธาเลื่อมใส จนบ้างก็นำมาเขียนเป็นพระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์ต่างๆ มากมาย อาทิ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จฯ เมืองพิษณุโลก ได้มีพระราชหัตถเลขา บันทึกถึงองค์พระพุทธชินราชไว้ว่า
"...พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา 3 พระองค์นี้ เป็นพระพุทธปฏิมากรดีล้ำเลิศ ประกอบด้วยพุทธลักษณะอันประเสริฐ มีศิริอันเทพยดาหากอภิบาลรักษาย่อมเป็นที่สักการบูชานับถือมาแต่โบราณ แม้พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาที่ได้มีพระเดชานุภาพมโหฬาร ปรากฏมาในแผ่นดินก็ทรงนับถือทำสักการบูชามาหลายพระองค์...จะหาพระพุทธรูปองค์ใดงามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว..."

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ทรงพระราชนิพนธ์ชื่นชมพระพุทธชินราชไว้ในหนังสือ "เที่ยวเมืองพระร่วง" ว่า
"ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธมานักแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย ที่ตั้งอยู่นั้นก็เหมาะนักหนา ว่าวิหารเหมาะ พอเหมาะกับพระ มีที่ดูได้ถนัด และองค์พระก็ตั้งต่ำพอดูได้ตลอดองค์ ไม่ต้องเข้าไปดูจนจ่อเกินไป และไม่ต้องแหงนคอตั้งบ่าแลดูแต่พระนาสิกพระ ยิ่งพิศไปยิ่งรู้สึกยินดีว่า ไม่เชิญลงมาเสียจากที่นั่น ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรคู่ควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือหรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ได้..."

และ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน "เที่ยวตามทางรถไฟ" ความว่า
"มีเนื้อความในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก ซึ่งทรงสร้างเมืองพิษณุโลกนั้น ทรงดำริจะสร้างพระพุทธรูป 3 พระองค์...แล้วทรงเททองสัมฤทธิ์หล่อเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ ปีจอ (ประมาณว่าในปีจอ พ.ศ.1907) สำเร็จเรียบร้อยแต่ 2 พระองค์ คือพระพุทธชินสีห์กับพระศาสดา แต่พระพุทธชินราชต้องหล่อหลายครั้งจึงสำเร็จ แล้วเอาเศษทองที่เหลือหล่อพระพุทธรูป 3 พระองค์นั้น หล่อเป็นพระพุทธรูปขนาดน้อยไว้อีกพระองค์ 1 จึงเรียกว่า "พระเหลือ"..."

ไม่ว่าผู้ใดที่ได้ไปกราบนมัสการ ต้องเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในความงดงาม ความสง่างาม และความสำคัญขององค์พระพุทธชินราช จนเป็นที่กล่าวขานกันมาทุกยุคทุกสมัย ดังปรากฏในบทเพลงว่า
ยามเยือนถิ่นแคว้นแดนฟูเฟื่อง ชื่อเมืองสองแคว สมคำกล่าวแท้สวรรค์สรรสร้าง
ธารน้ำหลากไหลเป็นแนวทาง สองริมฟากฝั่ง พืชพันธุ์สะพรั่งทั่วไป
พนมมือกราบพระพุทธชินราช พระปฏิมา ขอจงเมตตาปกป้องผองภัย
บุญน้อมนำ เคราะห์กรรมสิ้นไป หวังใดจงได้...สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไซร้...ช่วยดล

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/พระพุทธชินราช