ส่วนของสมาชิก

พระพุทธรูปอู่ทอง

พระพุทธรูปอู่ทอง

หน้าแรก » กรุพระ » พระพุทธรูป » พระพุทธรูปอู่ทอง
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

พระพุทธรูปอู่ทอง

"ศิลปะสกุลช่างที่รังสรรค์งานประติมากรรมสัมฤทธิ์ออกมาเป็นองคพระพุทธรูปที่เรียกขานกันว่า พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ซึ่งแตกต่างจากศิลปะ "อู่ทองสุวรรณภูมิ""

ความสับสนของการพิจารณาพระพุทธรูปไทยสมัยอู่ทอง หรือ ลพบุรีกับพระพุทธรูปเขมรมักมีอยู่เสมอ ซึ่งต้องยอมรับกันว่ามีเหตุเกี่ยวเนื่องมาจากทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ หลายท่านคงเคยได้ยินว่าศิลปะพระบูชาสมัยอู่ทองของเราสร้างเลียนแบบศิลปะพระบูชาหรือเทวรูปเขมรนั้น เรื่องนี้คงมีความจริงเพียงบางส่วน เพราะถ้าหากจะพิจารณาพุทธศิลป์ในองค์พระให้ลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว คงบอกได้ไม่ยากว่าพระพุทธรูปองค์ไหนเป็นของไทย องค์ไหนเป็นของเขมร อิทธิพลของงานศิลปะพระเขมร แผ่ขยายเข้ามาในสยามประเทศ ผ่านทางเมืองลพบุรี ในสมัยขอมยุคบายนซึ่งกำลังมีบารมีอำนาจครอบคลุมเข้ามาปกครองแผ่นดินของสยามอยู่หลายส่วน

ต่อมากษัตริย์ไทยมีพระปรีชาสามารถ บารมีอำนาจมากขึ้นในสมัยพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีประกาศอำนาจการปกครองครอบคลุมดินแดน แถบนี้สวนกระแสอำนาจที่เสื่อมลงของขอมและเมื่อบ้านเมืองมีความสงบสุขร่มเย็นลง ปลอดศึกสงคราม ศิลปินสายเลือดไทยจึงเริ่มมีจินตนาการศิลป์ สร้างศิลปะพระพุทธรูปไทยขึ้นในยุคนี้ โดยนำเอาศิลปะความเรียบร้อย อ่อนน้อมละเมียดละไม ซึ่งเป็นอุปนิสัยของคนไทยสอดเข้าผสมผสานกับศิลปะความเข้มแข็ง เงียบขรึมมีอำนาจของขอมก่อให้เกิดพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองที่สง่างาม เข้มขรึมแต่ไม่เข้มแข็งพระพักตร์คลายเครียดออกอาการยิ้มอยู่ในที มีลักษณะสำคัญให้ได้พิจารณากันดังนี้

  • พระรัศมี เป็นแบบเปลวเพลิง หรือ แบบปลีกล้วย (กาบกล้วยวางซ้อนกัน)
  • เม็ดพระศก ละเอียดเล็กปลายเรียวแหลมคล้ายหอยจุ๊บแจง
  • พระพักตร์ เป็นรูปทรงเหลี่ยมขมับนูน ต้นคางใหญ่ ปลายคางเป็นลอนแบบคางคน
  • ขอบพระกรรณ (หู) ส่วนโค้งบนใบหูมนุษย์ปลายพระกรรณ (ติ่งหู) ยาวปลายงอนขอบออกด้านหน้า
  • พระขนง (คิ้ว) โก่งยาวจรดกันแบบปีกกา
  • พระเนตร (ตา) ยาวรี เหลือบมองต่ำมีเนื้อและเปลือกตา
  • พระนาสิก (จมูก) ใหญ่พองาม (ระยะแรกสุดจมูกแบนเล็กไม่สมส่วนขาดความงดงาม)
  • พระโอษฐ์ (ปาก) กว้างริมฝีปากบน-ล่างหนา มุมปากทั้งสองด้านงอนขึ้นเล็กน้อย มองดูแสดงพระอาการยิ้มอยู่ในที
  • ลักษณะการคล้องผ้าจีวร เป็นแบบห่มลดไหล่เฉียงบ่า พาดผ้าสังฆาฎิมีสายรัดประคดปรากฏทั้งหน้า-หลัง ชายผ้าสังฆาฎิด้านหน้ายาวจรดหน้าท้องปลายตัดเป็นเส้นตรง ชายสังฆาฎิด้านหลังยาวจรดสายรัดประคด

พระพุทธรูปอู่ทอง ส่วนใหญ่ที่พบแสดงการนั่งปางมารวิชัยสมาธิราบ องค์พระนั่งอยู่บนฐานเขียงเรียบไม่มีลวดลาย แอ่นกลาง ภาพพระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทององค์นี้ มีความชัดเจนในรายละเอียดของศิลปะคู่ควรแก่การพิจารณาศึกษา เรียนรู้

ข้อมูลจากหนังสือ SPIRIT Art & Antique

ที่มา: www.aj-ram.com/view/พระพุทธรูปศิลป์สมัยอู่ทอง ปางมารวิชัย