ส่วนของสมาชิก

วิธีการพิจารณาพระกริ่งเขมร (ตั๊กแตน)

วิธีการพิจารณาพระกริ่งเขมร (ตั๊กแตน)

หน้าหลัก » บทความล่าสุด » วิธีการพิจารณาพระกริ่งเขมร (ตั๊กแตน)
Written by: arthit Posted in บทความล่าสุด

            ส่วน “การสร้างพระกริ่งตั๊กแตน” นั้น ใช้วิธีปั้นหุ่นเทียนทีละองค์จนต้องพูดว่า ถ้านำพระกริ่งสององค์มาเปรียบแล้วเหมือนกันหมดทุกอย่าง แสดงว่าต้องเก๊องค์หนึ่งหรือไม่ก็เก๊ทั้งสององค์ สำหรับพระกริ่งตั๊กแตนจะได้รับความนิยมแพร่หลาย โดยจัดสร้างขึ้นหลายแบบหลายพิมพ์ เช่น


พระกริ่งตั๊กแตน บัวฟองมัน

            พระกริ่งตั๊กแตน บัวฟองมัน    มีเอกลักษณ์คือ พระเศียรป่องกลมแบบเศียรพระกริ่งทั่วๆ ไป พระกรรณเป็นเส้นวางบนเม็ดพระศกและยาวจรดพระอังสะ (บ่า) พระพักตร์ เป็นรูปนูน และส่วนที่เป็นพระนาสิกจะแหลมขึ้นมา พระเนตรตอกเป็นเส้นลึกเฉียงขึ้นไปทางด้านบนแบบตาจีน  ไม่ปรากฏลายละเอียดแสดงถึงพระโอษฐ์ และพระขนง พระศอจะคล้องสายประคำทุกองค์ พระหัตถ์หากไม่ทรงถืออะไร มักจะประสานแบบสมาธิ หากถือจะมีดอกบัว สังข์ จักร และตรี ตามคตินิยมของผู้สร้างส่วนมากจะถือดอกบัว ส่วนใหญ่จะประทับนั่งสมาธิเพชร อยู่เหนือวัชรอาสน์ยกเป็นฐานสูงสองชั้น ด้านหน้าบางองค์ประดับด้วยบัวขมวดเป็นวงคล้ายเลข ๑ ไทย ลากหางซ้อนๆ กัน เรียกกันว่า  "บัวฟองมัน"  ซึ่งจะพบบัวฟองมันปรากฏอยู่เฉพาะด้านหน้าเท่านั้น ส่วนทางด้านหลังอาจเป็นบัวขีด หรือบัวฟันปลา ผสมอยู่ก็เป็นได้

พระกริ่งตั๊กแตน บัวตุ่ม

            พระกริ่งตั๊กแตน บัวตุ่ม บัวย้อย     พุทธลักษณะส่วนใหญ่คล้าย ‘พระกริ่งบัวฟองมัน’ จะผิดแผกแตกต่างก็คือ บัวที่หน้าฐาน แทนที่จะเป็นบัวฟองมันกลับเป็นตุ่มกลมเล็กๆ เรียงรายตั้งแต่ 7-9 เม็ด เรียกว่า “บัวตุ่ม” ส่วน “บัวย้อย” นั้น หมายถึง บัวตุ่มเม็ดริมทั้งสองข้างจะมีบัวตุ่มอีกดอกหนึ่งห้อยย้อยลงมาเพิ่มเติม

            พระกริ่งตั๊กแตน บัวเม็ดมะยม  พุทธลักษณะจะเหมือนกับ ‘พระกริ่งตั๊กแตนบัวตุ่ม บัวย้อย’ ทุกประการ แต่ที่เม็ดบัวตุ่มและบัวย้อย จะมีรอยบากลึกเป็นรูปกากบาททุกดอก ส่วนด้านหลังอาจเป็นบัวฟันปลา บัวขีด หรือบัวประเภทอื่นก็ได้

            พระกริ่งตั๊กแตน บัวขีด   ที่ฐานด้านหน้าจะไม่ปรากฏเป็นรูปดอกบัว หากแต่จะเป็นรอยขีดเป็นเส้นลึกลงไปในเนื้อ ลักษณะของการขีดเป็นเส้นทแยงขึ้นลงสลับไปมารอบอาสนะ


พระกริ่งตั๊กแตน บัวฟันปลา

            พระกริ่งตั๊กแตน บัวฟันปลา    นิยมสร้างกันมากและพบมากกว่าชนิดอื่น จุดสังเกตก็คือ จะมีรูปสามเหลี่ยมเหมือนฟันปลาเรียงรอบฐาน ซึ่งมีทั้งแบบบัวสองชั้นและบัวชั้นเดียว

            นอกจากนี้ “วิธีการบรรจุเม็ดกริ่ง” ก็จะเป็นแบบ ‘การบรรจุกริ่งในตัว’  คือ เมื่อปั้นหุ่นเทียนขี้ผึ้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะคว้านเนื้อบริเวณใต้ฐานออก แล้วบรรจุดินก่อนจะเอาเทียนขี้ผึ้งอุดใต้ฐาน เมื่อเอาหุ่นเทียนขี้ผึ้งไปเข้าหุ่นดิน จะใช้ตะปูแทงหุ่นขี้ผึ้ง บริเวณพระโสณีหรือสะโพกขององค์พระ เพื่อยึดดินที่บรรจุไว้ใต้ฐานให้อยู่กับที่ตอนสำรอกเอาขี้ผึ้งออก ดังนั้น เมื่อผ่านขั้นตอนกระบวนการหล่อพระกริ่งตั๊กแตนเรียบร้อย จะมีตะปูเสียบติดอยู่ด้านหลังพระ เมื่อดึงเอาตะปู่อออกและใช้ตะขอเขี่ยเอาดินที่บรรจุไว้แต่แรกออก แล้วจึงบรรจุเม็ดกริ่งลงไป แล้วปิดอุดด้วยทองชนวนให้เรียบร้อย ซึ่งการบรรจุเม็ดกริ่งในลักษณะนี้เป็นที่นิยมของคนโบราณ เพราะสามารถคว้านใต้ฐานองค์พระได้กว้าง ทำให้มีพื้นที่ในการเขย่าเม็ดกริ่งมากกว่าวิธีการบรรจุแบบกริ่งนอกตัว ซึ่งมักเจาะด้วยสว่านใต้ฐานแล้วบรรจุเม็ดกริ่งลงไป ก่อนอุดด้วยทองชนวนซึ่งทำได้ง่ายกว่า แต่การทำแบบกริ่งในตัวจะทำให้เกิดเสียงกังวาลและสดใส หากแต่ยุ่งยากกว่า พระกริ่งรุ่นหลังๆ จึงมักใช้วิธีบรรจุเม็ดกริ่งแบบในตัวมากกว่า

            อาจกล่าวได้ว่า ศิลปะของพระกริ่งเขมร หรือ พระกริ่งตั๊กแตน ไม่ว่าจะเป็นแบบบัวอะไรก็ตาม ถ้าสมัยจัดๆ หน่อย คือยุคต้นๆ ให้สังเกตช่วงแขนจะย้อยออกไปทางด้านหลัง ถ้าแขนสั้นๆ ลอยๆ ไม่ย้อยมักจะสมัยไม่ค่อยจัดนัก ส่วนเม็ดพระศกนั้นยิ่งเก่าจะยิ่งมีลักษณะเม็ดหนาใหญ่ ใช้เป็นข้อพิจารณาได้อีกประการหนึ่งครับผม

 

โดย     อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์ แฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง