ส่วนของสมาชิก

หลวงปู่เทสก์

หลวงปู่เทสก์

หน้าหลัก » ประวัติพระเกจิ » หลวงปู่เทสก์
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี)

พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เป็นสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรอันงดงามยิ่ง เป็นผู้นำศรัทธาในการอบรมสั่งสอนธรรมและนำสร้างศาสนสถานเพื่อการจรรโลงพระพุทธศาสนาหลายแห่งในถิ่นแถบอีสาน เป็นปูชะนียาจารย์ของชนทุกระดับขั้นท่านได้แสดงธรรมะคำสอนไว้มากมาย

ประวัติ

วัยเด็ก
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หรือ เทสก์ เทสรังสีมีนามเดิมว่า เทสก์ เรี่ยวแรง เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2445 ปีขาล ณ บ้านสีดา ตำบลกลางใหญ่ จังหวัดอุดรธานี บิดาชื่อ อุส่าห์ เรี่ยวแรง เดิมเป็นชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยมารดาชื่อ ครั่ง เป็นชาวพวน

เมื่ออายุได้ 9 ขวบ ได้เรียนหนังสือภาษาไทยกับพี่ชายซึ่งบวชเป็นพระที่วัดบ้านนาสีดาได้เรียนแบบเรียนประถม ก.กา มูลบทบรรพกิจ เรียนอยู่ 3 ปีกว่าพออ่านได้บ้าง นอกจากเรียนหนังสือไทยแล้ว ก็มีเรียนพวกบทสวดมนต์ หนังสือธรรมขอม ควบคู่กันไปด้วยต่อมาพี่ชายสึกจากพระทำให้ไม่มีใครสอนต่อ

บรรพชาและอุปสมบท
เมื่ออายุ 16 ปี หลวงปู่เทสก์ ได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ รอนแรมไปในป่า เป็นเวลาเดือนกว่า จึงถึงเมืองอุบลฯ หลวงปู่ไปบรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระอาจารย์ลุย บ้านดงเค็งใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์ บรรชาแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปีที่มีอายุครบ 20 และวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2466 จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสุทัศน์ อำเภอเมือง อุบลราชธานี โดยมี พระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี นับเป็นลูกศิษย์ ที่สำคัญยิ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต องค์หนึ่ง ท่านได้อุตสาหะปฏิบัติบำเพ็ญธรรม หลวงปู่ฯ ได้บำเพ็ญกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน และความเจริญมั่นคงแห่งพระศาสนา โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ และด้วยจิตใจที่แน่วแน่มั่นคง ผู้ที่เคยได้กราบนมัสการท่าน มักพูดในทำนองเดียวกันว่า ได้รับความอิ่มใจและเป็นบุญของเขาที่ได้มีโอกาสกราบนมัสการท่าน ทั้งนี้คงเป็นเนื่องจากบารมีธรรมที่หลวงปู่ได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติมาและเมตตาจิต ที่หลวงปู่แผ่มายังบุคคลเหล่านั้นนั่นเอง

ละสังขาร
ท่านอาพาธหนักครั้งสุดท้าย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2537  และถึงแก่มรณะภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อเวลา 21 นาฬิกาเศษ ของวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ณ วัดถ้ำขาม อ.พรรณนิคม จ.สกลนคร สิริอายุได้ 92 ปี 7 เดือน 21 วัน (อ่านเพิ่ม: กุฏินิพพานหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ณ วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานน้ำหลวงสรงสพและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานหีบทองทึบและทรงรับงานบำเพ็ญกุศลอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ พิธีพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จัดขึ้นที่วัดหินหมากเป้ง นับเป็นงานพระราชทานเพลิงศพพระเถราจารย์ครั้งประวัติศาสตร์

คำสอน

ตลอดชีวิตสมณเพศของหลวงปู่เทสก์ ท่านได้เผยแผ่คำสอนดีๆ มากมาย ยกตัวอย่างคำสอนที่เป็นที่พูดถึงกันค่อนข้างมาก เช่น

“คนเราเกิดมาในเมืองมนุษย์ ต้องพบมนุษย์อยู่ร่ำไป พระพุทธเจ้าสอนให้อยู่ด้วยความสงบวิเวกด้วยใจ อย่าไปยึดเอาเรื่องของคนอื่นมาไว้เป็นอารมณ์ของใจ แล้วก็จะวิเวกอยู่คนเดียว ถ้าใจไม่สงบแล้วจะอยู่ในป่าคนเดียวมันก็ไม่สงบอยู่ดีๆนั่นเอง”

“การเห็นจิตของเรานี่แหละดี มันคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบ คิดละเอียด ก็รู้ ดูจนกระทั่งมันวางลง ถ้าเห็นอยู่เสมอๆ แล้วก็วางหมด รู้สิ่งอื่นไม่สามารถจะชำระจิตของตนได้ รู้จิตของเรานี่แหล่ะ จึงจะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์”

“เวลากิเลสมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นทางกาย เกิดขึ้นทางวาจา เกิดขึ้นทางใจ รู้ทันมันเดี๋ยวนี้ มันก็ดับไปเดี๋ยวนี้แหละตัวสติมันปกครองอยู่เสมอ ถ้ามีสติอยุ่ทุกเมื่อ มันบ่ได้คุมมันหละ ครั้นเกิดขึ้น รู้ทันมันก็ดับ คิดผิดก็ดับ คิดถูกก็ดับ พอใจไม่พอใจก็ดับลงทันทีที่ตัวสติ”

วัตถุมงคลที่สร้าง

ในขณะที่ท่านยังไม่ละสังขาร ท่านไม่อนุญาตให้มีการสร้างเหรียญที่มีรูปของท่านปรากฏบนเหรียญ เหรียญและวัตถุมงคลส่วนมากถูกสร้างขึ้นหลังจากท่านมรณภาพแล้ว